วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ประวัติเมืองเชียงราย

ประวัติเมืองเชียงราย 
เมื่อพญามังรายได้ทรงรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือในอาณาเขตรอบ ๆ ได้แล้ว จึงทรงกรีฑาทัพไปแสดงฝีมือในการยุทธต่อหัวเมืองฝ่ายใต้ลงมา จึงได้ไปรวมพล ณ เมืองลาวกู่เต้า และหมอควาญได้นำช้างมงคลของพญามังรายไปทอด (ผูก) ไว้ในป่าหัวดอยทิศตะวันออกพลัดหายไป พญามังราย จึงได้เสด็จติดตามรอยช้างไปจนถึงดอยทองริมแม่น้ำกกนัทธี ได้ทัศนาการเห็นภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม อุดมสมบูรณ์เป็นชัยภูมิที่ดี จึงได้สร้างเมืองใหม่ ขึ้นในที่นั่น ให้ก่อปราการโอบเอาดอยจอมทองไว้ในท่ามกลางเมือง ขนานนามเมืองว่า “เวียงเชียงราย” ตามพระนามของพญามังรายผู้สร้าง เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 1805 ดังนั้น จึงได้นำรูปช้างสีขาวใต้เมฆแห่งความรุ่งเรือง และอยู่เย็นเป็นสุข บนพื้นสีม่วงของ วันเสาร์ซึ่งตรงกับวันประสูติของพญาเม็งราย เป็นสีประจำจังหวัด
จากการศึกษาด้านตำนานพื้นเมืองต่าง ๆ นักวิชาการท้องถิ่นของเชียงรายกล่าวว่าเรื่องราวเกี่ยวด้วยเรื่องการตั้งอาณาจักรต่าง ๆ ที่เป็นดินแดนของจังหวัดเชียงรายในปัจจุบันนั้นได้ปรากฏในพงศาวดารเหนือ เป็นหนังสือคัมภีร์ใบลาน ตัวหนังสืออักษรธรรมล้านนา ตำนานเมืองโยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสน บางแห่งเรียกว่า ตำนานโยนกนครราชธานี ไชยบุรีศรีช้างแสง เช่น ตำนานสิงหนวัติ เป็นต้น แต่ละเล่มเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองโยนกทั้งสิ้น จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าพงสาวดารโยนก อีกประการหนึ่งจะเกี่ยวพันกับอาณาจักรโบราณต่าง ๆ อันเป็นที่ตั้งของจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน
                                                                       ตามแนวความคิดเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยในหลายความคิด ได้มีความเชื่อว่า ถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยนั้นน่าจะอยู่ทางประเทศจีนมาก่อน ในยุคที่ชนชาติไทยเรากำลังหนีจีนมาตั้งนครหลวงอยู่ที่แคว้นเมาและหนองแสนั้น ถิ่นที่เป็นที่ตั้งของจังหวัดเชียงรายนี้เป็นที่อยู่ของชาวป่าชาวเขาพวกหนึ่งเรียกว่า “ลัวะ” (หรือลังวะ หรือละว้า) และชาวป่าพวกอื่นอาศัยอยู่
                                                                       ครั้งนั้น ราว พ.ศ. 50 ไทยเผ่าหนึ่งเรียกว่า อ้ายลาว ตั้งอาณาจักรอยู่ที่นครปา ถูกจีนรุกรานหนักเข้า จึงอพยพมาตั้งอยู่บริเวณเมืองเล็ม เชียงรุ้ง เชียงลาว ริมแม่น้ำสาย ตั้งราชวงศ์ขึ้นปกครองสืบต่อกันมาจนถึงสมัย ลวจักราช จึงได้ลงมาตั้งเมืองที่ตำบลยางเสี่ยวใกล้ดอยตุง เรียกว่า เชียงลาว
                                                                       ราวพุทธศตวรรษที่ 5 มีพวกไทยถอยร่นจากจีนตอนใต้ มาสมทบไทยที่เมืองเชียงลาวมากขึ้นทุกที จึงได้ขยายเมืองให้กว้างขวางขึ้นอีก เรียกว่า แคว้นยุนซาง หรือยวนเซียง มีอาณาเขตแผ่ไปถึงหลายเมือง เช่น เวียงกาหลง (อำเภอเวียงป่าเป้าในปัจจุบันนี้) เวียงฮ่อ ดงเวียง เวียงวัง แจ้ห่ม เชียงแสน ทั้งนี้ภายหลัง พ.ศ. 590 เป็นต้นมา
                                                                       ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 11 ขอมมีอำนาจถึงอาณาจักรโครตบูรณ์ จึงยกเข้ามาตีแคว้นยวนเซียง ขับไล่ชาวไทย แล้วตั้งเมืองขึ้นที่เชียงแสน เรียกว่า สุวรรณโคมคำ บริเวณที่เคยเป็นเมืองเชียงลาว ใกล้ฝั่งน้ำโขง และได้สร้างเมือง อุมงคเสลา ที่เมืองฝาง ต้นลำน้ำกก อาณาเขตสุวรรณโคมคำของขอมครั้งนั้น ทิศเหนือจดถึงเมืองหนองแส ทิศใต้จนฝายนาค (ลีผี) ตะวันออกถึงแม่น้ำแตก (แม่น้ำแท้) ทิศตะวันตกถึงแม่น้ำตู แต่ขอมปกครองไทยอย่างป่าเถื่อนและทารุณจนไทยเราอพยพจากเมืองสุวรรณโคมคำกระจัดกระจายไปอีก ขอมจึงย้ายไปตั้งเมืองอุมงคเสลา (เมืองฝางในปัจจุบัน) ทิ้งให้เมืองสุวรรณโคมคำร้างไว้)
                                                                       เจ้าสิงหนวัติกุมาร โอรสพระเจ้าเทวกาล กษัตริย์เมืองหนองแส เป็นชั้นหลานปู่ของขุนบรม ได้อพยพคนไทยประมาณแสนครัวจากหนองแส (ตาลิฟู) ลงมาสร้างเมืองขึ้นใหม่อีกให้มั่นคงถาวรยิ่งขึ้น แล้วขนานนามว่า เมืองนาคพันธุสิงหนวัตินคร ภายหลังเรียกสั้น ๆ ว่า นาเคนทร์นคร, นาคบุรี, โยนกนาคนคร และโยนกนครหลวง เป็นต้น (คือเมืองเชียงแสนในปัจจุบัน)
                                                                       พระเจ้าสิงหนวัติครองราชย์สมบัติในโยนกนครหลวงได้ 52 ปี สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 1367 มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาอีกหลายองค์ องค์ที่สำคัญ ๆ เช่น รัชกาลที่ 3 พระเจ้าอชุตราช ผู้สร้างมหาสถูปดอยตุง ปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเชียงรายและล้านนาไทย
รัชกาลที่ 4 พระเจ้ามังรายนราช (โอรสพระเจ้าอชุตราช) พระองค์มีโอรส 2 พระองค์ องค์ใหญ่มีพระนามว่า พระองค์เชือง องค์เล็กมีพระนามว่า ไชยนารายณ์ รัชกาลที่ 5 พระองค์เชือง (ราชโอรสพระเจ้ามังรายนราช ครองเมืองโยนกนครหลวงต่อมา)
ส่วนโอรสองค์ที่ 2 ของพระเจ้ามังรายนราช มีพระนามว่า พระองค์ไชยนารายณ์ ซึ่งเป็นพระองค์น้อง ได้ไปสร้างเมืองใหม่ที่ตำบลดอนมูล ริมแม่น้ำลาว (น้ำกาหลง) เรียกว่าเมืองไชยนารายณ์
                                                                       พระองค์ไชยนารายณ์ ได้ครองเมืองไชยนารายณ์ และมีกษัตริย์สืบสันตติวงศ์ต่อมาอีกหลายพระองค์ จนถึงองค์ที่ 27 มีพระนามว่า พระองค์พังคราช ชาติไทยได้อ่อนกำลังลง ขอมซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เมืองอุมงคเสลา ได้ยกทัพเข้าตีเมืองโยนกนาคนคร พระองค์พังคราชหนีไปอยู่เวียงสีทวง แต่นั้นมาไทยก็เป็นเมืองขึ้นของขอมเรื่อยมา ใน พ.ศ. 1461 พระมเหสีก็ได้ประสูติพระโอรส มีพระนามว่า เจ้าทุกขิตกุมาร และต่อมา พ.ศ. 1436 พระมเหสีก็ประสูติเจ้าพรหม กุมารอีกพระองค์หนึ่ง
                                                                       ครั้งเจ้าพรหมกุมารมีพระชนมายุ 17 พรรษา ทรงแกล้วกล้าในการรบพุ่ง อย่างยิ่ง ได้ขับไล่ขอมจนสำเร็จ เมื่อ พ.ศ. 1479 แล้วเชิญพระราชบิดาไปครองเมืองโยนกนาคนครต่อไป เจ้าพรหมกุมารตีได้เมืองอุมงคเสลาซึ่งมีอำนาจร่วม 500 ปีแตก ขับไล่ขอมจนถึงเมืองหริภุญไชย และเมืองกำแพงเพชรจนหมดสิ้นเชื้อชาติขอมในอาณาจักรโยนก พระองค์สร้างเมืองอุมงคเสลาขึ้นใหม่ ขนานนามว่า เมืองไชยปราการ ในปี พ.ศ. 1479 นั้นเอง อนึ่ง เมืองโยนกนาคนครก็เปลี่ยนนามใหม่ว่า เวียงไชยบุรี เพื่อระลึกถึงชัยชนะของพระองค์
                                                                       พระเจ้าพรหมนครองเมืองไชยปราการต่อมา เสด็จสวรรคต พ.ศ. 1582 ก็ได้เสียเมืองให้แก่ขุนเสือขวัญฟ้า (บางฉบับก็ว่าพระยาสุธรรมวดี) แม้กษัตริย์ที่เมืองนครไชยบุรีและนครไชยนารายณ์จะยกทัพมาช่วยก็สู้ข้าศึกไม่ได้ พระเจ้าไชยศิริจึงรับสั่งให้เผาเมือง แล้วอพยพผู้คนพลเมืองหนีมาทางใต้ ไปตั้งอยู่ที่เมืองอู่ทองเพื่อตั้งตัวต่อไป
                                                                       ยังมีกษัตริย์ไทยอีกพระองค์หนึ่ง พระนามว่า ลาวจก หรือลาวจง ปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จังกราช (คำว่า ลว เป็นชื่อราชวงศ์ ไม่ใช่ลัวะหรือละว้าซึ่งเป็นชื่อชาวป่าชาวเขา) ซึ่งครองเมืองเชียงลาว (แคว้นจก) ได้ขยายอำนาจมาจนถึงเมืองเงินยาง จนรวบรวมบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นแล้วได้ขนานนามเมืองว่า หิรัญนครเงินยาง และมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาอีกหลายพระองค์ที่ได้กล่าวมานี้ เป็นสังเขปประวัติความเป็นมาก่อนสร้างเมืองเชียงราย นับเป็นประวัติความเป็นมาของชาติไทยในดินแดนภาคเหนือ อันมีนครโยนกเป็นราชธานีตามการศึกษาจากตำนานพื้นเมือง
                                                                       จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของบางยุคบางสมัยในดินแดนเหล่านี้ บางครั้งก็มีความคลาดเคลื่อนกันไป ทั้งทางด้านสถานที่ หรือด้านของเวลา จึงยากที่จะชี้ชัดลงไปอย่างชัดเจนว่าหลักฐานใดถูกต้อง สำหรับอาณาจักรโบราณและเมืองต่าง ๆ อันเป็นที่ตั้ง ของจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน ที่ปรากฏในตำนานหรือพงศาวดารและหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น พอจะแบ่งออกเป็นยุคต่าง ๆ ดังนี้
1. ยุคอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน
2. ยุคหิรัญนครเงินยาง
3. ยุคเชียงราย (มังราย)
4. ยุคพันธุมติรัตนอาณาเขต


ความเป็นมาของตุงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
                                                                    เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ซึ่งนับว่าเป็นวาระอันมงคลยิ่ง พสกนิกรชาวเชียงรายทุกหมู่เหล่าและเผ่าพันธุ์ได้รวมใจกันเฉลิมพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันหาที่สุดมิได้ ต่อพสกนิกรชาวเชียงรายและชาวไทย จึงพร้อมใจกันจัดสร้างตุงทองคำเพื่อ
น้อมเกล้าน้อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน ๒ ตุง และตุงหลวงจำนวน ๑ ตุง เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาส
จังหวัดเชียงรายสถาปนาได้ ๗๓๗ ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมโครงการเฉลิมพระเกียรติของกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของ
นายวิจารณ์ ไชยนันทน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในสมัยนั้น ได้รับความร่วมมือร่วมใจ จากประชาชนชาวเชียงรายทุกหมู่เหล่า เผ่าพันธุ์ เป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งตุงผืนที่ ๑ ออกแบบโดย นายถวัลย์ ดัชนี ผืนที่ ๒ ออกแบบโดย นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ตุงหลวง ออกแบบโดย นายกนก วิศวกุล ผู้ออกแบบได้ศึกษาและผสานความคิดสอดคล้องกันกับชาวเชียงรายผนวกกับความจงรักภักดี จังมีความหมายและเกิดรูปแบบดังต่อไปนี้
ตุงผืนที่ ๑ 
ออกแบบโดย นายถวัลย์ ดัชนี
รูปแบบตุง มีลักษณะเป็น จลนะภาพ คือการแสดงออกถึงพลังแห่งการเคลื่อนไหว อิสระเบ่งบานในการรังสรรค์ที่มิได้ยึดรูปแบบดั้งเดิม หากแต่ยังไว้ซึ่งศักยภาพในด้านเนื้อหา ปรัชญาศรัทธา และสัญลักษณ์อันเปี่ยมด้วยความหมายของกษัตริย์แห่งจักรีวงศ์ โดยใช้รูปแบบของนารายณ์ทรงครุฑ อันเป็นพระราชลัญจกรของรามาวตาร พระวิษณุอวตารลงมาเป็นพระราม รูปพระนารายณ์สี่กรทรงตรี คธา จักร และสังข์ ประทับยืนบนครุฑ ช้างเอราวัณสามเศียร หมายถึง สวรรค์ชั้นดุสิต ที่สถิตของพระอินทร์ และพระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ อยู่บนฐานปัทม์ ดอกบัวเสี้ยงเดือนรูปปิ่นพระศิวะ และกระต่ายแทนปีพระราชสมภพ และเป็นสัญลักษณ์ของ ศศิธรประภามณฑลของพระอิศวร ตามปกิรนัมตรีมูรติ จิตรกรแทนหกรอบพระชันษา โดยใช้ชื่อสัตว์หิมพานต์ทั้งหก อันมีช้างเอราวัณ ครุฑ นาค นรสิงห์ คชสีห์ และกระต่าย นับได้ว่าเป็นงานรังสฤษฎ์ที่สมบูรณ์ด้วยรูปแบบ เปี่ยมด้วยความหมาย ทรงพลังและเข้มขลังด้วยศรัทธาความรัก
ตุงผืนที่ ๒
ออกแบบโดย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
เป็นตุงแห่งความจงรักภักดีของชาวเชียงรายและปวงประชาไทย น้อมเกล้าถวายบูชาองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
แสดงออกด้วยรูปแบบที่บ่งบอกถึง”จากแผ่นดิน - สู่แผ่นฟ้า”
ดิน หมายถึง รูปทรงล่างสุดของตุง ที่มีสัญลักษณ์รูปช่างอันเป็นตราประจำจังหวัดเชียงรายโอบอุ้มขึ้นไปสู่รูปทรงที่ปรากฏเป็นภาพประชาชนชาวเชียงรายถวายเครื่องสูง เพื่อน้อมถวายสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในบรรยากาศของขุนเขาดอยนางนอน และองค์พระธาตุดอยตุง เหนือจากดอยตุงเป็นภาพพญาครุฑ อันเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ขององค์พระมหากษัตริย์ หลังของพญาครุฑเป็นรัศมีที่โอบอุ้มมี ๑๐ องค์ หมายถึง การปกครองด้วยทศพิธราชธรรม เหนือพญาครุฑเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ มีเปลวกนกที่หมายถึงพระเมตตา รองรับพญานาค ซึ่งหมายถึงพระบารมีที่ปกป้องไพร่ฟ้าประชาชน ดอกบัว และแสดงถึงทรงเป็นนักปฎิบัติธรรมแตกฉานในพระธรรมอย่างลึกซึ้ง บนสุดเป็นตราสัญลักษณ์ 6 รอบ ล้อมด้วยเปลวกนกที่โพยพุ่งไปสู่ความสว่าง คือ พระนิพพาน
ตุงผืนที่ ๓ 
ออกแบบโดย นายกนก วิศวะกุล
ภาพโดยรวมของตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติฯ แสดงออกถึงพลังแห่งความสงบนิ่งและมั่นคงพลังแห่งความจงรักภักดี พลังแห่งความเคารพศรัทธายิ่ง ของเหล่าพสกนิกรชาวไทย ที่น้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องจากตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติฯ นี้ จะได้จัดสร้างไว้ที่จังหวัดเชียงรายในโอกาสข้างหน้า เพื่อร่วมฉลองเมืองเชียงรายที่สถาปนามาได้ ๗๓๗ ปี ดังนั้น รูปแบบด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม จึงต้องคำนึงถึงหลักภูมิทัศน์ที่มีความสอดคล้องกลมกลืนอย่างสงบ มั่นคงและสง่างาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น